E -Signature ตามพ.ร.บ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ

e-signature

E -Signature ตามพ.ร.บ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ

E -Signature แบ่งตามพ.ร.บ. ได้เป็น 2 ประเภท

ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ ปรากฏอยู่ใน 2 มาตรา คือ มาตรา 9 และมาตรา 26

มาตรา 9

ลายมือชื่อตามมาตรา 9 คือ “ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป” เป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบที่เป็นอักษร อักขระ ตัวเลข เสียงหรือสัญลักษณ์อื่นๆที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ตัวอย่าง เช่น

  • การพิมพ์ชื่อไว้ท้ายเนื้อหาของอีเมล
  • การคลิกปุ่มแสดงการยอมรับหรือตกลง
  • การทำเครื่องหมายในช่องแสดงการยอมรับ
  • การใช้ระบบงานอัตโนมัติ (automated workflow system) ที่มีการยืนยันตัวผู้ใช้งานมาประกอบกับรูปแบบของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป

ลายมือชื่อตามมาตรา 9 รองรับความเท่าเทียมกันระหว่างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์และลายมือชื่อที่เซ็นต์กันปกติ ซึ่งเป็นหลักเปิดกว้างเพื่อรองรับวิธีการทุกประเภทที่อาจนำมาใช้ในการลงลายมือชื่อในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมาตรา 9 แบ่งส่วนประกอบ 2 ส่วน ได้แก่

  • ส่วนที่ 1 คือ เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์        
  • ส่วนที่ 2 คือ การแสดงถึงความเห็นชอบของบุคคลในการรับรองข้อความที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็น“วิธีการที่เชื่อถือได้” (ดูพฤติการณ์ที่เหมาะสมในการกำหนดว่า อย่างไรคือ วิธีที่เชื่อถือได้ เช่น ความซับซ้อนของเครื่องมือ ศักยภาพของระบบ การติดต่อสื่อสาร เป็นต้น)

ลายมือชื่อตามมาตรา 9 ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้มีการลงลายมือชื่อ หรือกำหนดผลทางกฎหมาย กรณีที่ไม่มีการลงลายมือชื่อไว้ให้ถือว่าได้มีการลงลายมือชื่อแล้วถ้า

  1. ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อได้ และสามารถแสดงเจตนาของเจ้าของลายมือชื่อเกี่ยวกับข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
  2. วิธีการใดๆที่สามารถยืนยันตัวเจ้าของลายมือชื่อและสามารถแสดงเจตนาของเจ้าของลายมือชื่อได้ แสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อยอมรับข้อความนั้น
  3. ใช้วิธีที่น่าเชื่อถือ วิธีการที่เชื่อถือได้ให้คำนึงถึง
    • ความมั่นคงและรัดกุมของการใช้วิธีการหรืออุปกรณ์ในการระบุตัวบุคคล สภาพพร้อมใช้งานของทางเลือกในการระบุตัวบุคคล กฎเกณฑ์เกี่ยวกับลายมือชื่อที่กำหนดไว้ใน กฎหมายระดับความมั่นคงปลอดภัยของการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ การปฏิบัติตามกระบวนการในการระบุตัวบุคคลผู้เป็นสื่อกลาง ระดับของการยอมรับหรือไม่ยอมรับ วิธีการที่ใช้ ในการระบุตัวบุคคลในการทำธุรกรรม วิธีการระบุตัวบุคคล ณ ช่วงเวลาที่มีการทำธุรกรรมและ ติดต่อสื่อสาร
    • ลักษณะ ประเภท หรือขนาดของธุรกรรมที่ทำ จำนวนครั้งหรือความสม่ำเสมอ ในการทำธุรกรรม ประเพณีทางการค้าหรือทางปฏิบัติ ความสำคัญ มูลค่าของธุรกรรมที่ทำ
    • ความรัดกุมของระบบการติดต่อสื่อสาร ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับการประทับตราของนิติบุคคลด้วยวิธีการ ทางอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยโดยอนุโลม
e-signature มาตรา9

มาตรา 26

ลายมือชื่อมาตรา 26 สำหรับมาตรา26 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เน้นให้ความสำคัญกับ ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ โดยในที่นี้ลายเซ็นดิจิทัล (Digital Signature) ได้ตรงกับนิยามของมาตรา 26 

“ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้” มีลักษณะ ดังนี้

  1. ข้อมูลที่ใช้สร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์เชื่อมโยงไปยังเจ้าของลายมือชื่อได้
  2. ข้อมูลที่ใช้สร้างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ อยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าของลายมือชื่อโดยไม่มีการควบคุมของบุคคลอื่น
  3. สามารถจะตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของลายมือชื่อ / ข้อความที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่เวลาที่ได้สร้างขึ้นได้

สำหรับลายมือชื่อตามมาตรา 26 ซึ่งหมายถึงลายเซ็นดิจิทัล (Digital Signature) โดยตามกฏหมายถือว่าเป็นลายเซ็นที่เชื่อถือได้ โดยข้อมูลที่ใช้ในการสร้างลายมือสามารถเชื่อมโยงเข้ากับเจ้าของลายมือชื่อนั้นรวมถึงสามารถควบคุมได้ และยังสามารถตรวจการเปลี่ยนแปลงข้อความลายมือชื่อนั้นได้อีกด้วย 

e-signature มาตรา26

ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การลงลายมือชื่อเป็นไปเพื่อรับรองความครบถ้วน และไม่มีการเปลี่ยนแปลงของข้อความ การเปลี่ยนแปลงใดแก่ข้อความนั้นสามารถตรวจพบได้นับแต่เวลาที่ลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง ไม่เป็นการจำกัดว่าไม่มีวิธีการอื่นใดที่แสดงได้ว่าเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ หรือการแสดงพยานหลักฐานใดเกี่ยวกับความไม่น่าเชื่อถือของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์

ลายมือชื่อมาตรา 26 เมื่อใช้เทคโนโลยีตามคุณสมบัติหรือหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ให้ถือว่าเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ โดยวิธีการเชื่อถือได้พิจารณาตามที่กฎหมายกำหนด เช่น เทคโนโลยีที่มีคุณสมบัติหรือลักษณะเป็นลายมือชื่อดิจิทัล (digital signature) (หมวด 2 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ เพื่อเสริมมาตรา 9) ดังนั้น ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 26 จึงเป็นการลงลายมือชื่อตามมาตรา 9 และสามารถใช้แทนกันได้ โดยไม่ต้องพิสูจน์ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 9 วรรคสอง ก. ถึง ค. อีก

Chotika Sukeepap
Chotika Sukeepap